เลือกอ่านตามหัวข้อ
[แสดง][ซ่อน]ความรักในทางวิทยาศาสตร์ เป็นยังไงกันนะ !?
ความรักในทางวิทยาศาสตร์ ระบบที่ 1 ความใคร่ ( แรงขับทางเพศ )
ความรักในทางวิทยาศาสตร์ ระบบที่ 2 ความหลงใหล ( การหลงรัก )
ความรักในทางวิทยาศาสตร์ ระบบที่ 3 ความผูกพัน ( ความสัมพันธ์ระยะยาว )
กฎแห่งการดึงดูดความรัก เราตกหลุมรักคนอื่นเพราะอะไร !?
กฎแห่งการดึงดูดความรัก ข้อที่ 1 ตกหลุมรักคนที่มีความคล้ายคลึงกับเรา
กฎแห่งการดึงดูดความรักข้อที่ 2 ตกหลุมรักคนที่มีบุคลิกภาพเหมือนกับพ่อหรือแม่ของเรา
กฎแห่งการดึงดูดความรักข้อที่ 3 ตกหลุมรักคนที่มีลักษณะคล้ายคนในอุดมคติ
กฎแห่งการดึงดูดความรักข้อที่ 4 เกลียดแบบไหนจะได้แบบนั้น
กฎแห่งการดึงดูดความรักข้อที่ 5 ความใกล้ชิดและระยะทางก็สำคัญ
กฎแห่งการดึงดูดความรักข้อที่ 6 ทฤษฎีสะพานแขวน
แล้วเราเหมาะกับคนแบบไหนล่ะ ?
บทความแนะนำ
ทำไมเราถึงชอบคนนี้นะ? ทั้ง ๆ ที่รอบตัวก็มีคนตั้งมากมาย มีใครเคยสงสัยมั้ยคะว่า มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เราชอบใครสักคนบ้าง? บางคนอาจตกหลุมรักใครสักคนได้ แม้ว่าจะไม่ใช่สเปกของตัวเองเลยด้วยซ้ำ หรือบางคนก็อาจชอบใครสักคนได้ โดยไม่มีข้อแม้อะไรเลย แม้กระทั่งบางคนก็อาจจะตกหลุมรักคนแบบเดิมซ้ำ ๆ แบบไม่ได้ตั้งใจอีก ซึ่งจริง ๆ แล้วในทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา สามารถอธิบายเรื่องความรัก ความชอบ การตกหลุมรัก และ กฎแห่งการดึงดูดความรัก ได้ ฉะนั้น วันนี้ซิสเลยอยากจะมาชวนเพื่อน ๆ มา talk มาแชร์ความรู้เรื่องเหล่านี้กันค่า อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังตกหลุมรักอยู่ หรือ คนที่ต้องการให้คนมาตกหลุมรักก็ได้น้าา เอาล่ะ ตามไปอ่านกันเลยดีกว่าา~
ความรักในทางวิทยาศาสตร์ เป็นยังไงกันนะ !?
ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องจิตวิทยา หรือก็คือเรื่อง "กฎแห่งการดึงดูดความรัก" เราต้องมาพูดถึงเรื่องความรักกับวิทยาศาสตร์กันก่อน ว่าคืออะไร และในวิทยาศาสตร์ความรักเกิดขึ้นมาได้ยังไง?
ทางวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาจนค้นพบว่า ในช่วงที่เรากำลังชอบ หรือ ตกหลุมรักใครสักคน สมองของเราจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกันออกไปในทุก ๆ เรื่อง ซึ่งจริง ๆ แล้ว "การเกิดความรักจะเกิดขึ้นที่สมอง" และมักส่งผลต่อจิตใจ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของเราเสมอ เฮเลน ฟิเชอร์ นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้กล่าวไว้ว่า การตกหลุมรักอะไรบางอย่างเกี่ยวข้องกับสมอง 3 ระบบที่แบ่งแยกกันชัดเจน นั่นก็คือ
ความรักในทางวิทยาศาสตร์ ระบบที่ 1 ความใคร่ ( แรงขับทางเพศ )
ความใคร่ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความรู้สึกหลงใหลอีกฝ่าย และเกิดแรงขับทางเพศ เพราะตามธรรมชาติแล้วมนุษย์จะมีสัญชาตญาณ หรือแรงขับภายในดึงดูดซึ่งกันและกันเสมอ โดยในช่วงนี้ร่างกายจะมีฮอร์โมนทางเพศเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ผู้ชายจะมีฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่มาจากการผลิตของอัณฑะ ส่วนในผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน (Estrogen) ที่มาจากการผลิตของรังไข่ โดยทั้งสองมีศูนย์กลางการควบคุมอยู่ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส ทำให้รู้สึกเขินอาย เมื่อได้มองตากันและพูดคุยกัน หรือเวลาได้เจอกันแล้ว ทำตัวไม่รู้ ตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง
ความรักในทางวิทยาศาสตร์ ระบบที่ 2 ความหลงใหล ( การหลงรัก )
ความหลงใหล คือ ช่วงเวลาแห่งการหลงรัก หรือตกหลุมรักอีกฝ่าย ทำให้คนเราตกอยู่ในภวังค์แห่งรัก และอาจทำอะไรลงไปโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งจะทำให้การใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป บางคนมีอาการเพ้อและคิดถึงคนรักตลอดเวลา ซึ่งในช่วงนี้การทำงานของสมองจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มสารเคมีที่ชื่อว่า “โมโนเอมีน” แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ โดพามีน (Dopamine) คือ สารแห่งความสุข ที่หลั่งออกมาเมื่อร่างกายได้รับสิ่งที่ปรารถนา ฮอร์โมนเอพิเนฟรีน (Norepinephrine) หรือ อะดรีนาลิน (Adrenalin) คือ ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว เขินอาย มีอาการหัวใจเต้นแรง เวลาที่ได้พบกับคนที่เรารักหรือชอบ และสุดท้าย เซโรโทนิน (Serotonin) คือ สารชีวเคมีที่เป็นกลไลสำคัญในการตกหลุมรัก ส่งผลต่ออารมณ์และการแสดงออกของเรา ทำให้เราอาจแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาแบบไม่รู้ตัว เช่น การเผลอยิ้ม เป็นต้น
ความรักในทางวิทยาศาสตร์ ระบบที่ 3 ความผูกพัน ( ความสัมพันธ์ระยะยาว )
ความผูกพัน ช่วงเวลานี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากการตกหลุมรักไปแล้ว และสองฝ่ายตกลงที่จะคบกันต่อในระยะยาว โดยสมองจะปรับเข้าสู่โหมดการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ ออกซีโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้จิตใจสงบ รู้สึกปลอดภัย โดยจะหลั่งออกมาเมื่อมีการกอด สัมผัส หรือใกล้กับคนรัก ทำให้รู้สึกถึงความผูกพัน และความเชื่อใจซึ่งกันและกัน อีกชนิดนึง คือ วาโซเพรสซิน (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้รู้สึกผูกพันและหวงแหนกันมากยิ่งขึ้น มีบทบาทสำคัญต่อคู่รัก ส่งผลให้คู่รักปรารถนาจะใช้ชีวิตร่วมกัน
แม้ว่าความรักจะเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาทางเคมีภายในร่างกาย และสัญชาตญาณตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว แต่ก็ยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ใช่แค่สารเคมีในร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และผู้คนที่เราพบเจออีกด้วย ฉะนั้น ต่อไปซิสจะพาไปแชร์ความรู้ในเรื่อง ความรักกับจิตวิทยา "กฎแห่งการดึงดูดความรัก" ว่ามีเหตุผลอะไรอีกบ้าง ที่ทำให้เราสามารถตกหลุมรักคนคนนึงได้
กฎแห่งการดึงดูดความรัก เราตกหลุมรักคนอื่นเพราะอะไร !?
การมีความรักเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถช่วยเพิ่มพลังงานบวกและความสุขให้กับคนเราได้ จากที่ซิสได้เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า เคยสงสัยมั้ย การที่เราชอบใครสักคนมีเหตุผลอะไร ทำไมเราถึงต้องชอบเขา ทั้ง ๆ ที่รอบตัวมีคนตั้งมากมาย จริง ๆ แล้วการตกหลุมรักนั้น เกิดจากกระบวนการทางจิตวิทยา มีงานวิจัยที่พิสูจน์พบว่าจิตวิทยาสำคัญที่ทำให้คนเรารู้สึกตกหลุมรักกันได้ นั่นก็คือ "กฎแห่งการดึงดูดความรัก" ที่เกิดขึ้นมาจากความคล้ายคลึงกันของคนสองคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และยังรวมถึงการที่คนสองคนพบเจอกันในสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากกว่าปกติอีกด้วย จะมีเหตุผลอะไรน่าสนใจอีกบ้าง ไปดูกันเลยย
กฎแห่งการดึงดูดความรัก ข้อที่ 1 ตกหลุมรักคนที่มีความคล้ายคลึงกับเรา
เคยได้ยินประโยคที่ว่า "บางคนก็ชอบคนที่มีนิสัยเหมือนกับตัวเอง" กันมั้ยคะ ประโยคนี้สามารถอธิบายในทางจิตวิทยาได้นะ โดยนักจิตวิทยาเชื่อว่า การที่ได้พบเจอคนที่มีความคล้ายคลึงกัน มีโอกาสในการตกหลุมรักกันสูงกว่าคนที่ไม่ได้คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะในเรื่องของ การใช้ชีวิตประจำวัน กิจกรรมที่สนใจ ความคิด ทัศนคติ หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่คล้ายคลึงกันเหล่านี้ จะเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างเรากับฝ่ายตรงข้ามให้เข้าหากันได้ง่ายกว่า มีเรื่องพูดคุยและพูดคุยกันได้ลื่นไหลกว่านั้นเอง
กฎแห่งการดึงดูดความรักข้อที่ 2 ตกหลุมรักคนที่มีบุคลิกภาพเหมือนกับพ่อหรือแม่ของเรา
นอกจากความคล้ายคลึงกันในเรื่องต่าง ๆ ของตัวเรากับฝ่ายตรงข้ามที่จะสามารถสร้างแรงดึงดูดให้ตกหลุมรักกันได้แล้ว นักจิตวิทยายังเชื่อว่า เราทุกคนยังมีแนวโน้มที่จะตกหลุมรัก คนที่เหมือนกับพ่อหรือแม่ของเราได้อีกด้วย ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ มักจะเกิดขึ้นกับคนที่เกิดความประทับใจในตัวพ่อหรือแม่ของตัวเอง เช่น ถ้าเป็นลูกสาวที่มีพ่อนิสัยดี ซื่อสัตย์ สุภาพอ่อนโยน ก็จะพยายามเลือกคนรักที่มีนิสัยหรือบุคลิกภาพคล้ายกับพ่อของตน