เราทุกคนล้วนเคยเศร้า และการจัดการกับความเศร้าที่หลายคนเลือกก็คือการรีบเอาตัวเองออกมาจากความรู้สึกนั้นให้เร็วที่สุด แต่บทความนี้อยากจะมาเสนอมุมมองมุมต่างว่าบางครั้งการที่เราปล่อยตัวเองให้เศร้าก็เป็นอีกวิธีในการรักษาความเศร้าได้เช่นกันค่ะ

วิธีรับมือกับความเศร้า คือการเศร้าให้พอ
remark : เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงนะคะ เพียงแค่อยากเสนออีกมุมมองจากตัวเองเท่านั้นค่ะ
เราในฐานะคนเคยเศร้าคนนึงที่มีงานอดิเรกชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาและความรู้สึก เมื่อก่อนเราก็เคยรู้สึกเหมือนหลายๆ คนนี่แหละค่ะ ว่าความเศร้ามันเป็นสิ่งไม่ดี มีแต่จะทำให้จมกับความทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่พอได้มาอ่านหนังสือ และฟัง podcast หลายๆ อันเราก็มองความเศร้าเปลี่ยนไปค่ะ จริงๆ แล้วมันก็เป็นความรู้สึกหนึ่งที่ธรรมชาติออกแบบมา และการออกแบบโดยธรรมชาติส่วนใหญ่ก็ต้องมีเหตุผลของมัน เช่น การมีเหงื่อออกเพื่อระบายความร้อน มีความเครียดเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์อันตราย ความเศร้าก็เช่นกันค่ะ ธรรมชาติก็คงมีเหตุผลที่สร้างความรู้สึกนี้ขึ้นมา แต่ในบทความนี้เราไม่ได้จะมาพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือหลักจิตวิทยาอะไรหรอกนะคะ เราอยากจะมาบอกต่อจากประสบการณ์ของเราเอง และเพื่อนๆ ของเราค่ะ
ที่เขียนไว้ในหัวข้อว่า ‘ วิธีรับมือกับความเศร้า คือการเศร้าให้พอ ’ ไม่ใช่ประโยคที่เกินจริง แต่ก็ไม่ใช่ประโยคที่สามารถใช้กับทุกคนได้ค่ะ เราคิดว่าคนที่จะใช้ประโยคนี้ได้จะต้องเป็นคนที่ 1. ไม่มีภาระหน้าที่เร่งด่วน 2. รู้ลิมิตความเศร้า และสำคัญที่สุด 3. ไม่มีสภาวะทางจิตที่ผิดปกติ หากคุณเป็นไปตามสามข้อนี้ก็สามารถใช้ข้อคิดนี้ได้ค่ะ ต่อไปเราจะขอเข้าเรื่องหัวข้อของเรากันนะคะ
อย่างที่กล่าวไปว่าคนเรามักจะพยายามดีดตัวออกมาจากความเศร้า โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ แต่เราอยากจะมาเสนอมุมมองมุมต่างค่ะ บางครั้งการดีดตัวออกจากความเศร้าให้เร็วที่สุดก็เป็นเรื่องที่ดี ยิ่งถ้าคุณมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำ(จากข้อที่1) แต่ก็ใช่ว่าการทิ้งความเศร้านั้นจะมีประสิทธิภาพค่ะ เราอาจจะยังไม่ได้หลุดออกจากความรู้สึกนั้นจริงๆ ความจริงแล้วเราอาจจะยังเศร้าอยู่แค่เรากดมันไว้ ซึ่งถ้าผ่านไปเป็นเวลานาน ความเศร้าสะสมเข้าเรื่อยๆ ก็มีโอกาสที่สถานการณ์จะแย่ลงได้ค่ะ
เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องรีบในการกลับไปมีสภาพจิตใจปกติก็ได้นะคะ ให้เวลากับจิตใจที่บอบบางของเรา ให้เวลาสมองเราได้คิด ให้เวลาหัวใจเรารู้สึกบ้างว่าความรู้สึกที่แท้จริงแล้วมันคืออะไร เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อม ค่อยกลับมาเป็นคนเดิมที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์เศร้าครั้งนั้นน่าจะส่งผลดีในระยะยาวมากกว่าค่ะ แต่ต้องย้ำเตือนตัวเองเสมอว่าอย่าจมดิ่งกับความเศร้าจนความคิดไม่ทำงานนานเกินไปนะคะ อย่างที่บอกว่าประโยคนี้ใช้ได้หากคุณรู้ลิมิตความเศร้าค่ะ ถ้าจะใช้ประโยคนี้เป็นข้ออ้างให้ตัวเองจมดิ่งแล้วเป็นอันตรายต่อตัวเองก็ไม่ได้เหมือนกัน
ขอให้มีความสุขกับการรับมือความเศร้านะคะ :)
ท้ายสุดแล้วเราอยากจะบอกผู้อ่านทุกท่านที่ผ่านเข้ามาว่า " บางครั้งเราไม่ต้องพยายามมีความสุขตลอดเวลาก็ได้ค่ะ " เราทุกคนมีช่วงชีวิตที่ดีและร้ายสลับกันไปเป็นเรื่องปกตินะคะ อย่าบังคับตัวเองให้มีความสุขตลอดเวลาเพราะมันเป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ และบอกตัวเองเสมอว่าความเศร้า ความเครียด ความเหนื่อย ไม่ใช่สิ่งที่แย่เลยค่ะ ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลของมัน แค่เราจะมองเห็นประโยชน์ของมันตอนไหนเท่านั้นเอง

อันดับบทความประจำวัน
(หมวดสุขภาพ)
Variety By SistaCafe

Feature
กิจกรรม SistaCafe