Articles cartoon2
การ์ตูน

เรื่องราวจากหนังสือ เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์

เรื่องราวเมื่อครั้งสมัยที่รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์ ผ่านคำบอกเล่าของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ค่ะ


» » » »
Sistacafe button sharefb
Down
วันนี้เรามีอีกหนึ่งบทความน้อมรำลึกถึงพระองค์มาฝาก สำหรับในช่วงเวลาของการไว้อาลัยแด่ 'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ' ค่ะ เป็๋นเรื่องราวของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จากหนังสือ เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์

เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์ เป็นหนังสือซึ่งพระราชนิพนธ์โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยทรงเขียนคำนำไว้ว่า “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ ไม่ได้เป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นหนังสือที่พี่เขียนให้น้องที่จะครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐ เพื่อที่จะระลึกด้วยกันถึงทุกข์สุขสมัยที่เป็นเด็กและเยาวชนด้วยกันโดยแบ่งให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย”



โดยหนังสือเล่าถึงเริื่องราวสมัยทรงพระเยาว์ของทั้งสามพระองค์ค่ะ วันนี้เราจึงหยิบเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มาเล่าให้ฟังกันค่ะ




ในหนังสือ เล่าถึงการเสด็จกลับประเทศไทยครั้งแรกของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 และเล่าถึงชีวิตในรั้ววังสระปทุมเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เรื่องราวของสัตว์เลี้ยงตัวแรกเอาไว้ดังนี้


กรุงเทพฯ 2471-2476


"แม่จากประเทศไทยไปเกือบสามปีครึ่งทูลหม่อมฯก็ไม่ได้ประทับเมืองไทยมาสองปีครึ่งส่วนน้องสององค์ยังไม่เคยเห็นแผ่นดินไทยเลย“เราเข้าไปอยู่ในตำหนักที่ทูลหม่อมฯทรงสร้างตั้งแต่ปี 2469ตำหนักนี้สร้างอย่างประณีตและอยู่สะดวกสบาย ชาววังเรียกว่า...ตำหนักใหม่ ส่วนแม่ก็มีงานมากในการจัดระเบียบให้ลูก3 คน พระองค์เล็กยังเดินไม่ได้ ตอนแรกๆ จึงถูกผูกไว้บ่อยๆในรถเข็นที่นำมาด้วยจากต่างประเทศ บางวันก็ปูเสื่อให้นั่งเล่นองค์เดียวหรือกับพี่ชาย


แม่เล่าว่าพระองค์เล็กถึงแม้ว่าจะยังเดินไม่ได้ ก็มีวิธีขององค์เองในการข้ามถนนหน้าบ้านที่เป็นกรวดแหลมๆ ท่านจะโก้งโค้ง เอามือและเท้าแตะพื้น และเดินสี่เท้าแบบนี้ไปแทนที่จะคลานให้เจ็บเข่า ในสมัยนั้นวังสระปทุมยังนับว่าอยู่ชานเมืองอากาศยังบริสุทธิ์แม่จึงอยากให้ลูกๆได้อยู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ท่านจัดที่ทางสิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ให้ทีละเล็กทีละน้อย สิ่งแรกที่สร้างขึ้นคือที่เล่นทรายเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมมีทรายอยู่ข้างใน แบบเดียวกับที่เห็นได้ในสวนสาธารณะในต่างประเทศ


“เราได้เลี้ยงสัตว์กันหลายชนิดสุนัขตัวแรกนั้น ข้าพเจ้าตั้งชื่อว่าเจ้าบ๊อบบี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นสุนัขไทยคงเป็นเพราะแหม่มคนหนึ่งเป็นผู้ให้ข้าพเจ้า ตัวที่สองชื่อเป็นไทยแล้วชื่อ นรินทร์นอกจากนั้น ยังมีกระต่ายและนกซึ่งอยู่ในกรงสูงๆ ขนาดคนเข้าไปยืนได้...มีนกขุนทองตัวหนึ่งด้วย วันหนึ่งนกตัวนี้หลุดไปจากกรงเล็กของมัน ขึ้นไปเกาะอยู่บนต้นไม้ และพูดซ้ำๆ “แหมพระองค์เล็กคะ” เป็นเสียงแหนน และ“พระองค์ชาย... พระองค์ชาย” เป็นเสียงห้าวๆ และห้วนๆ"



อนึ่ง แหนน ที่พระองค์พูดถึงคือท้าวอินทรสุริยา สรรพาหารพิจาริณี หรือนามเดิม เนื่อง จินตดุลย์ ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงของทั้งสามพระองค์ และยังเป็น พระสหายร่วมชั้นเรียนวิชาพยาบาลของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช







นอกจากนี้ยังทรงเล่าถึงความซนของทั้งสองพระองค์ในสมัยนั้นด้วย โดยทรงเล่าว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่รู้จักเจ้าเสียจริงๆ ไม่มีใครเรียกเราว่า เจ้าชายหรือเจ้าหญิง เรียกนาย และนางสาว ภาษาฝรั่งเศสไม่มีเด็กชาย เด็กหญิง จึงทำให้เราเหมือนกับคนธรรมดา

พี่น้องก็ช่วยกันหาความรู้โดยการเล่นต่างๆ เช่น เวลารับประทานอาหารจะเล่นทายอะไรกันต่างๆ บางพักจะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็จะเป็นเกมประวัติศาสตร์ แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาจะเล่นอะไรหลายอย่างซึ่งจะนำประโยชน์มาได้ภายหลัง

การเล่นแบบซนๆ มีบ้างเหมือนกัน เช่น วันหนึ่งแม่ได้ยินเสียงร้องเพลงเอะอะออกมาจากห้องเย็บผ้า เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็เห็นสองพระองค์เอากระโปรงที่พาดไว้ที่พนักเก้าอี้ เพื่อจะแก้เมื่อมีเวลา มาสวมเต้นระบำแบบฮาวายจนตะเข็บขาดหมด

แม่ก็ถามว่า ทำไมจึงเอากระโปรงของแม่มาเล่นเช่นนี้ ได้รับคำตอบว่ากระโปรงตกอยู่ที่พื้น นึกว่าไม่ใช้แล้ว แม่เลยปรับเสียคนละ 2 แฟรงค์



 




ในหนังสือพระองค์ยังเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลว่า



พระองค์ชายมักจะเป็นผู้ชอบแหย่คน เช่น ผลักเขา หรือตีเขา ครั้งหนึ่งเมื่อไปอยู่ถึงเมืองโลซานน์แล้ว จะต้องมีการลงโทษเพราะพระองค์ชายชอบไปแกล้งลูกของผู้เฝ้าบ้าน ซึ่งตัวเล็กที่สุดในจำนวนเด็กที่วิ่งๆ อยู่ตามแถวนั้น อายุประมาณ 4-5 ขวบ พี่น้องสองคนตั้งชื่อเขาว่า "เด็กคนเล็ก"

วันหนึ่งพระองค์ชายก็ไปผลักเด็กคนนี้ในที่ที่อันตราย คือ ที่บันได แม่จึงพูดว่าเตือนมาหลายทีแล้ว คราวนี้เห็นจะต้องตี คิดว่าควรตีสักกี่ที พระองค์ชายตอบว่า หนึ่งที

แม่ก็ตอบว่า เห็นจะไม่พอเพราะทำมาหลายที ควรเป็นสามที จึงตกลงกันเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ผลักเขาอีก ส่วนพระองค์เล็กนั้น บางครั้งก็ต้องถูกทำโทษเหมือนกัน แต่น้อยกว่ามาก ไม่ใช่เพราะไม่ซน แต่แม่บอกว่า เพราะโดยมากพี่จะเป็นผู้นำเมื่อเห็นตัวอย่างจากการถูกทำโทษของพี่ก็จะระวังตัว



อีกเรื่องเล่าที่น่ารักตามพรรษาของรัชกาลที่ 8 นั้นได้แก่ เหตุผลที่ไม่อยากเป็นคิง โดยบอกกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของประเทศไทย โดยทรงเล่าว่า

"นันทได้บอกหลวงธำรงฯ ว่าไม่อยากเป็นคิงเพราะ:

๑. เป็นเด็ก
๒. ไม่รู้จักอะไร
๓. ขี้เกียจ
๔. พระเก้าอี้ (นันทเรียกว่าโทรน) สูงนัก แล้วนันทก็เป็นคนหลุกหลิก เดี๋ยวจะตกลงไป พระยาพหลฯ ก็จะดุเอา
๕. เวลาไปไหนต้องกางร่ม ทำให้ไม่ได้แดด
๖. จะเดินไปไหนก็มีคนเกะกะทั้งข้างหน้าข้างหลัง วิ่งไม่ได้

ข้อเหล่านี้นันทคิดขึ้นเองหมดทั้งนั้นเมื่อทราบว่าหลวงธำรงฯ จะมา"




ตอนเด็กๆ ร.8 และร.9 ทรงตั้งสโมสรปาตาปุม (Club Patapoum) ขึ้นมา เข้าใจว่าเอาอย่างในหนังสือการ์ตูนที่มักมีเด็กๆ มาร่วมกลุ่มสร้างสโมสรทำกิจกรรมต่างๆ กัน สโมสรฯ นี้มีชื่อสมาชิกอยู่เยอะมาก แต่มีตัวตนจริงๆ แค่ 2 องค์ คือ ร.8 และ ร.9 นั่นแหละ

ในรายชื่อสมาชิกสโมสรนั้นจะระบุชื่อและตำแหน่งต่างๆ ไว้ เช่น นายกสโมสรฯ รองนายก เหรัญญิก และประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ชื่อที่มีก็เช่น ราอูล กงตรอง และเลอ กงเมลช์ โดยทั้งสองพระองค์ก็จะสลับกันเป็นตำแหน่งโน้นตำแหน่งนี้กันไป โดยนามสมมุติจากสโมสรนี้ยังคงอยู่ในความทรงจำพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ตลอดจนพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต เนื่องจากนาม เลอ กงเมลช์ ได้ปรากฏอีกครั้งในจดหมายที่พระองค์ทรงเขียนในปี พ.ศ. 2489 โดยใช้เรียกแทนชื่อพระอนุชา หรือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งและดำเนินการสโมสรนี้ก็ไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่ๆก็เพื่อหาผลประโยชน์เข้าสโมสร เช่น สโมสรปาตาปุมมีการหารายได้ผ่านการจ่ายค่าบำรุงสมาชิกซึ่งเงินค่าสมาชิกก็มาจากค่าขนมของ ร.8 และ ร.9 เอง แต่ ร.8 ซึ่งเป็นพี่ก็ต้องจ่ายค่าบำรุงมากกว่า เพราะได้ค่าขนมมากกว่า


โดยการประชุมของสโมสรนั้น จัดขึ้นที่ตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของสองพระองค์ (ตอนทรงพระเยาว์บรรทมห้องเดียวกัน) ส่วนหัวข้อการประชุมก็เช่นเรื่องจะนำเงินสโมสรไปซื้ออะไรดี

อย่างตอนที่หารือกันว่าจะซื้อรถไฟโบราณที่ใช้ไม่ได้ดี หรือจะซื้อรางรถไฟมาขยายรางเดิมเพิ่มดี พอปรึกษากันก็ได้มติว่าจะนำเงินสโมสรไปซื้อรางรถไฟเพิ่ม เป็นต้น


เวลาสโมสรมีเงินมาก ก็จะนำไปฝากธนาคาร และนอกจากของเล่นก็ยังมีเหรียญทองสวิสที่ค่อยๆ ซื้อมาเก็บ และหนังสือด้วย ถ้าเป็นหนังสืออ่านเล่นก็จะซื้อกันเอง แต่ถ้าเป็นหนังสือความรู้ รัฐบาลจะเป็นผู้ซื้อสนับสนุน ซึ่งรัฐบาล ก็คือแม่ หรือสมเด็จย่านั่นเอง




นอกจากค่าบำรุงสมาชิกแล้ว ถ้าใครได้ของขวัญเป็นเงิน ก็ต้องเสียภาษี และก็มีการนำของที่มีไปออกสลากขาย มีการแบ่งรายได้ไว้ทำบุญ 50% ด้วย (สมเด็จย่าฯ แม่ของทั้งสองพระองค์ ทำกล่องสำหรับใส่เงินทำบุญไว้ ใครอยากทำเท่าไหร่ก็นำเงินไปใส่กล่อง)

แต่ช่วงที่มีรายได้เข้าสโมสรมากที่สุดนั้น คือเมื่อตอนกลับไปเมืองไทยปี 2481 ไปเฝ้าสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่วังสระปทุม (สมเด็จย่าของทั้งสองพระองค์) โดยทั้งสองพระองค์ไปกราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากเห็นธนบัตรไทย เมื่อประทานธนบัตร 10 บาท ก็ทูลถามว่าธนบัตร 20 บาทมีไหม ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทูลขอโดยตรง





นอกจากหารือกันสร้างรายได้หรือซื้อของแล้ว บางครั้งสโมสรปาตาปุมก็ออกหนังสือในนามสโมสรด้วย ครั้งนึงสมเด็จพระพี่นางฯ เคยได้หนังสือจากสโมสร เป็นข้อความลายพระหัตถ์ของ ร.8 เขียนบทกลอนล้อเลียนบทกลอนของนักเขียนชื่อดังที่พระองค์คงกำลังเรียนอยู่ตอนนั้น โดยลายเซ็นเป็นชื่อกรรมการคนหนึ่งในสโมสรนั่นเอง


หนังสือและของที่ออกในนามสโมสรปาตาปุม ส่วนใหญ่ก็มักเป็นเชิงหยอกล้อเอาสนุก แต่ก็มีครั้งหนึ่งเหมือนกันที่สมเด็จพระพี่นางฯ ซึ่งป่วยอยู่ที่โรงเรียนประจำในขณะนั้น ได้รับจดหมายและกล่องจากสโมสรปาตาปุมนี้ พระพี่นางเล่าว่า "ออกจะไม่ไว้ใจนัก" แต่พอเปิดกล่องออกดู ก็พบว่าเป็นไก่ย่างตัวเล็กๆ และขนม พร้อมคำอวยพรให้หายไวๆ แถมลงท้ายกำกับไว้ว่า"นี่สโมสรออกเงินเอง ไม่ใช่แม่"



และนี่ก็เป็นเรื่องราวบางส่วนจากหนังสือ เจ้านายเล็ก ๆ - ยุวกษัตริย์ ค่ะ ซึ่่งเป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งเลยค่ะ :)



บทความที่เกี่ยวข้อง
Content quotation bg
Disclaimer : หากมีข้อสงสัย กรุณาติดต่อทีมงานมาที่ [email protected]
Content quotation bg


ดาวน์โหลดแอพ
ดาวน์โหลดแอพดาวน์โหลดแอพ
Icon ranking

อันดับบทความประจำวัน

(หมวดการ์ตูน)

Variety By SistaCafe

Icon feature 100x100

Feature

กิจกรรม SistaCafe